พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 497
อรรถกถากณเวรชาดก ที่ ๘๑
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
ทรงปรารภการประเล้าประโลมของภรรยาเก่าของภิกษุ
จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า ยนฺตํ วสนฺตสมเย ดังนี้.
เรื่องราวปัจจุบันจักมีแจ้งในอินฺทฺริยชาดก
ส่วนในที่นี้ พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า
ดูก่อนภิกษุ เมื่อชาติก่อนเธออาศัยหญิงนี้จึงได้รับการตัดศีรษะด้วยดาบ
แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์เกิดฤกษ์โจรในเรือนของคฤหบดีคนหนึ่งในกาสิกคาม
พอเจริญวัยแล้ว กระทำโจรกรรมเลี้ยงชีวิต จนปรากฏในโลก เป็นผู้กล้าหาญ มีกำลังดุจช้างสาร
ใคร ๆ ไม่สามารถจับพระโพธิสัตว์นั้นได้
วันหนึ่ง
พระโพธิสัตว์นั้นตัดที่ต่อเรือนในเรือนของเศรษฐีแห่งหนึ่ง ลักทรัพย์มาเป็นอันมาก.
ชาวพระนครพากันเข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ มหาโจรคนหนึ่งปล้นพระนคร ขอพระองค์โปรดให้จับโจรนั้น.
พระราชาทรงสั่งเจ้าหน้าที่รักษาพระนครให้จับมหาโจรนั้นในตอนกลางคืน
เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนครนั้น ได้วางผู้คนไว้เป็นพวก ๆ ในที่นั้น ๆ ให้จับมหาโจรนั้น
๑. ในพระสูตรเป็น กณเวรชาดก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 498
ได้พร้อมทั้งของกลาง แล้วกราบทูลแก่พระราชา. พระราชาทรงสั่งเจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนครนั้นนั่นแหละว่า จงตัดศีรษะมัน.
เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนครมัดมือไพล่หลังมหาโจรนั้นอย่างแน่นหนา แล้วคล้องพวงมาลัยดอกยี่โถแดงที่คอของมหาโจรนั้น
แล้วโรยผงอิฐบนศีรษะเฆี่ยนมหาโจรนั้นด้วยหวายครั้งละ ๔ รอย จึงนำไปยังตะแลงแกงด้วยปัณเฑาะว์อันมีเสียงแข็งกร้าว
พระนครทั้งสิ้นก็ลือกระฉ่อนไปว่า ได้ยินว่า โจรผู้ทำการปล้นในนครนี้ ถูกจับแล้ว
ครั้งนั้น ในนครพาราณสี มีหญิงคณิกาชื่อว่าสามา
มีค่าตัวหนึ่งพัน เป็นผู้โปรดปรานของพระราชา
มีวรรณทาสี ๕๐๐ คนเป็นบริวาร ยืนเปิดหน้าต่างอยู่ที่พื้นปราสาท เห็นโจรนั้นกำลังถูกนำไปอยู่
ก็โจรนั้นเป็นผู้มีรูปงามน่าเสน่หา ถึงความงามเลิศยิ่ง มีผิวพรรณดุจเทวดา ปรากฏเด่นกว่าคนทั้งปวง.
นางสามาเห็นเข้าก็มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่คิดอยู่ว่าเราจะกระทำบุรุษนี้ให้เป็นสามีของเราได้ด้วยอุบายอะไรหนอ
รู้ว่ามีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง จึงมอบทรัพย์พันหนึ่งในมือหญิงคนใช้คนหนึ่ง
ผู้กระทำตามความต้องการของตนได้ เพื่อส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนคร โดยให้พูดว่า
โจรนี้เป็นพี่ชายของนางสามา เว้นนางสามาเสีย ผู้อื่นที่จะเป็นที่อาศัยของโจรนี้ย่อมไม่มี
นัยว่า ท่านรับเอาทรัพย์หนึ่งพันนี้แล้วปล่อยโจรนี้ หญิงคนใช้นั้นได้กระทำเหมือนอย่างนั้น.
เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนครกล่าวว่า โจรนี้เป็นโจรโด่งดัง เราไม่อาจปล่อยโจรนี้ได้ แต่เราได้คนอื่นแล้วอาจให้โจรนี้นั่งในยานอันมิดชิดแล้วจึงส่งไปได้.
หญิงคนใช้นั้นจึงไปบอกแก่นางสามานั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 499
ก็ในกาลนั้น มีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่ง มีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันนางสามา ให้ทรัพย์พันหนึ่งทุกวัน.
แม้วันนั้น เศรษฐีบุตรนั้นก็ได้เอาทรัพย์หนึ่งพันไปยังเรือนนั้น
ในเวลาพระอาทิตย์อัศดงคต ฝ่ายนางสามารับทรัพย์พันหนึ่งแล้ววางที่ขาอ่อนแล้วนั่งร้องไห้
เมื่อเศรษฐีบุตรนั้นกล่าวว่า นางผู้เจริญ นี่เรื่องอะไรกัน จึงกล่าวว่า
ข้าแต่นาย โจรนี้เป็นพี่ชายของดิฉัน เขาไม่มายังสำนักของดิฉัน ด้วยคิดว่า เราทำกรรมต่ำช้า
เมื่อดิฉันส่งข่าวแก่เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนคร ๆ ส่งข่าวมาว่า เราได้ทรัพย์พันหนึ่งจึงจักปล่อยตัวไป
บัดนี้ ฉันได้ทรัพย์หนึ่งพันนี้แล้ว แต่ไม่ได้โอกาสที่จะไปยังสำนักของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนคร.
เพราะมีจิตปฏิพัทธ์ในนาง เศรษฐีบุตรนั้นจึงกล่าวว่า ฉันจักไปเอง.
นางสามากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถือเอาทรัพย์ที่นำมานั่นแหละไปเถิด.
เศรษฐีบุตรนั้นถือทรัพย์พันหนึ่งนั้นไปยังเรือนของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนคร.
เจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระนครนั้นพักเศรษฐีบุตรนั้นไว้ในที่อันมิดชิด แล้วให้โจรนั่งในยานอันปกปิดมิดชิดแล้วไปให้นางสามา แล้วทำการอ้างว่า โจรนี้เป็นโจรโด่งดังในแว่นแคว้น ต้องรอให้มืดค่ำเสียก่อน ทีนั้นพวกเราจึงจักฆ่าโจรนั้น ในเวลาปลอดคน แล้วยับยั้งอยู่ครู่หนึ่ง
เมื่อปลอดคนแล้ว จึงนำเศรษฐีบุตรไปยังตะแลงแกงด้วยการอารักขาอย่างแข็งแรง แล้วเอาดาบตัดศีรษะเสียบร่างไว้ที่หลาวแล้ว เข้าไปยังพระนคร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 500
ตั้งแต่นั้นมา นางสามามิได้รับอะไร ๆ จากมือของคนอื่น ๆเที่ยวอภิรมย์ชมชื่นอยู่กับโจรนั้นนั่นแหละ โจรนั้นคิดว่า ถ้าหญิงนี้จักมีจิตปฏิพัทธ์ในชายอื่นไซร้ แม้เรา นางก็จักให้ฆ่าแล้วอภิรมย์กับชายนั้นเท่านั้น หญิงนี้เป็นผู้มักประทุษร้ายมิตรโดยส่วนเดียว เราอยู่ในที่นี้ ควรรีบหนีไปที่อื่น
แต่เมื่อจะไปจะไม่ไปมือเปล่า จักถือเอาห่อเครื่องอาภรณ์ของหญิงนี้ไปด้วย
วันหนึ่ง จึงกล่าวกะนางสามานั้นว่า นางผู้เจริญ เราทั้งหลายอยู่เฉพาะในเรือนเป็นประจำ เหมือน
ไก่อยู่ในกรง พวกเราจักเล่นในสวนสักวันหนึ่ง.
นางสามานั้นรับคำแล้วจัดแจงสิ่งของทั้งปวงมีของควรเคี้ยว และของควรบริโภคเป็นต้น
ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทั้งปวง นั่งในยานอันมิดชิดกับโจรนั้นแล้วไปยังสวนอุทยาน.
โจรนั้นเล่นอยู่กับนางสามานั้นในสวนอุทยานนั้นจึงคิดว่า เราควรหนีไปเดี๋ยวนี้
จึงทำทีเหมือนต้องการจะร่วมอภิรมย์ด้วยกิเลสฤดีกับนางสามานั้น จึงพาเข้าไประหว่างพุ่มต้นยี่โถแห่งหนึ่ง
ทำทีเหมือนสวมกอดนางสามานั้น แล้วจึงกดลงทำให้สลบล้มลงแล้วปลดเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง
เอาผ้าห่มของนางนั่นแหละผูกแล้ววางห่อมีภัณฑะไว้ที่คอ โดดข้ามรั้วอุทยานหลบหลีกไป.
ฝ่ายนางสามานั้นกลับได้สัญญาความทรงจำ จึงลุกขึ้นมายังสำนักของพวกหญิงรับใช้แล้วถามว่า
ลูกเจ้าไปไหน พวกหญิงรับใช้กล่าวว่า พวกดิฉันไม่ทราบเลย แม่เจ้า.
นางสามาคิดว่า สามีของเราสำคัญเราว่าตายแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 501
จึงกลัวแล้วหลบหนีไป เสียใจ จึงจากสวนอุทยานนั้นนั่นแลไปบ้านคิดว่า
ตั้งแต่เวลาที่เรายังไม่พบเห็นสามีที่รัก เราจักไม่นอนบนที่นอนที่ประดับตกแต่ง จึงนอนอยู่ที่พื้น.
ตั้งแต่นั้นมา นางไม่นุ่งผ้าสาฎกที่ชอบใจ ไม่บริโภคภัตตาหาร ๒ หน ไม่แตะต้องของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น คิดว่า เราจักแสวงหาพ่อลูกเจ้าด้วยอุบายอย่างใดอย่าง
หนึ่งบ้างแล้วให้เรียกกลับมา จึงให้เชิญพวกคนนักฟ้อนมาแล้วได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง.
เมื่อพวกนักฟ้อนรำกล่าวว่า แม่เจ้า พวกเราจะทำอะไรให้บ้าง.
นางจึงกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าสถานที่ที่พวกท่านยังไม่ได้ไป ย่อมไม่มี
ท่านทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปยังคามนิคม และราชาธานี แสดงการเล่นพึงขับเพลงขับบทนี้ขึ้นก่อนทีเดียว ในมณฑลสำหรับแสดง
การเล่น เมื่อจะให้พวกฟ้อนรำศึกษาเอา จึงกล่าวคาถาที่หนึ่ง แล้วสั่งว่า เมื่อพวกท่านขับเพลงขับบทนี้ ถ้าหากพ่อลูกเจ้าจักอยู่ในภายในบริษัทนั้น เขาจักกล่าวกับพวกท่าน เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกท่านพึง
บอกถึงความที่เราสบายดีแก่เขา แล้วพาเขามา ถ้าเขาไม่มา พวกท่านพึงให้เขาส่งข่าวมา ดังนี้แล้วมอบสะเบียงเดินทางให้แล้วส่งพวกนักฟ้อนรำไป.
พวกนักฟ้อนเหล่านั้นออกจากนครพาราณสีกระทำการเล่นอยู่ในที่นั้น ๆ ได้ไปถึงบ้านปัตจันตคามแห่งหนึ่ง.
โจรแม้คนนั้นก็หนีไปอยู่ในบ้านปัตจันตคามนั้น. พวกนักฟ้อนเหล่านั้น เมื่อจะแสดงการเล่นในที่นั้น จึงพากันขับร้องเพลงขับบทนี้ก่อนทีเดียวว่า :-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 502
ท่านกอดรัดนางสามาด้วยแขน ในสมัยที่อยู่ในกอชบามีสีแดง เธอได้สั่งความไม่มีโรคมายังท่าน.
บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า กณเวเรสุ คือกณวีเรสุ แปลว่า ดอกชบา.
บทว่า ภาณุสุ ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยสีแสงแห่งดอกแดง ๆ.
บทว่า สามํ ได้แก่ ผู้มีชื่ออย่างนั้น.
บทว่า ปิเฬสิ ความว่า ท่านบีบรัด เหมือนคนผู้ประสงค์ร่วมภิรมย์ด้วยกิเลสฤดีสวมกอดอยู่ฉะนั้น.
บทว่า สา ตํ ความว่า นางสามานั้นหาโรคมิได้ แต่ท่านสำคัญว่านางตาย จึงกลัวหลบหนีไป
นางนั้นได้บอกกล่าว คือแจ้งถึงความที่ตนไม่มีโรค.
โจรได้ฟังเพลงขับนั้นจึงเข้าไปหานักฟ้อนแล้วกล่าวว่า ท่านพูดว่า สามายังมีชีวิต แต่เราหาเธอไม่
เมื่อจะเจรจากับนักฟ้อนนั้นจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ดูก่อนท่านผู้เจริญ ข่าวที่ว่า ลมพึงพัดภูเขาไปได้ ใคร ๆ คงไม่เชื่อถือ
ถ้าลมจะพึงพัดเอาภูเขาไปได้ แม้แผ่นดินทั้งหมดก็พัดไปได้ เพราะเหตุไร นางสามาตายแล้ว จะสั่งความไม่มีโรคถึงเราได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 503
คำที่เป็นคาถานั้นมีใจความว่า ท่านนักฟ้อนผู้เจริญ ข่าวที่ว่าลมพัดเอาภูเขาไปเหมือนหญ้าและใบไม้นี้ ใคร ๆ คงไม่เชื่อ
ถ้าแม้ลมจะพึงพัดเอาภูเขาไปได้ แผ่นดินแม้ทั้งหมดก็คงพัดเอาไปได้
ก็ข้อนี้ใคร ๆ ไม่พึงเชื่อถือเหมือนเราไม่เชื่อข่าวนางสามานั่น.
บทว่า ยตฺถสามา กาลกตา ความว่า นางสามาทำกาละไปแล้ว จะถามความไม่มีโรคถึงเราได้เอง.
ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เชื่อ ?
ตอบว่า เพราะธรรมดาคนที่ตายแล้ว จะส่งข่าวสาส์นแก่ใคร ๆ ไม่ได้.
นักฟ้อนได้ฟังคำของโจรนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
นางสามานั้นยังไม่ตาย และไม่ปรารถนาชายอื่น ได้ยินว่า นางจะมีผัวคนเดียว
ยังหวังเฉพาะท่านเท่านั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า ตเมว อภิกงฺขติ ความว่า นางไม่ปรารถนาชายอื่น ยังหวัง คือต้องการ ปรารถนาเฉพาะท่านเท่านั้น.
โจรได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า นางจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
เราไม่ต้องการนาง แล้วกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
นางสามาได้เปลี่ยนเราผู้ยังไม่เคยเชยชิดสนิทสนม กับบุรุษที่นางเคยเชยชิดสนิทสนมมานาน
เปลี่ยนเราผู้ไม่เป็นขาประจำกับบุรุษผู้เป็นขาประจำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 504
นางสามาคงจะเปลี่ยนบุรุษอื่นแม้กับเราอีก เราจักไปเสียจากที่นี้ให้ไกลแสนไกล.
บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า อสนฺถุตํ ได้แก่ ผู้ยังไม่ได้ทำการสังสรรค์.
บทว่า จิรสนฺถุเตน แปลว่า ผู้ได้ทำการสังสรรค์กันมานาน.
บทว่า นิมินิ แปลว่า แลกเปลี่ยน.
บทว่า อธุวํ ธุเวน ความว่า นางสามาได้ให้ทรัพย์หนึ่งพันแก่เจ้าหน้าที่ ผู้รักษาพระนคร
แล้วรับเอาเรามา เพื่อแลกเปลี่ยนเราผู้ไม่เป็นขาประจำกับสามีประจำนั้น.
บทว่า มยาปิ สามา นิมิเนยฺย อญฺญํ ความว่า นางสามาพึงแลกเปลี่ยนเอาสามีคนอื่นแม้กับเรา.
ด้วยบทว่า อิโต อหํ ทูรตรํนี้ โจรกล่าวว่า เราจักไปยังที่ไกลแสนไกลเช่นที่ทำเราไม่อาจได้ฟังข่าว
หรือความเป็นไปของนางสามานั้น เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจง
บอกความที่เราจากที่นี้ไปที่อื่นแก่นางสามานั้น เมื่อนักฟ้อนเหล่านั้น
เห็นอยู่นั่นแหละ ได้นุ่งผ้าให้กระชับมั่นแล้วรีบหนีไป.
นักฟ้อนทั้งหลายได้ไปบอกอาการกิริยา ที่โจรนั้นกระทำแก่นางสามานั้น.
นางเป็นผู้มีความวิปฏิสารเดือดร้อนใจ จึงยังกาลเวลาให้ล่วงไปโดยปกติของตนนั่นแล.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะแล้วทรงประชุมชาดก.
ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันถึงภรรยาเก่า ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 505
เศรษฐีบุตร ในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุรูปนี้
นางสามาในครั้งนั้นได้เป็นปุราณทุติยิกาภรรยาเก่า
ส่วนโจรในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถากณเวรชรดก ที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 506
[/size]