วงศ์ พระสุเมธพุทธเจ้าที่ ๑๑ - คุยได้ฟังดีกับบรรดาสมาชิกวัด - กระดานสนทนาธรรม
กระดานสนทนาธรรม

ที่พักสงฆ์ป่าสามแยก บ้านห้วยยางทอง ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ 67260


วงศ์ พระสุเมธพุทธเจ้าที่ ๑๑

วงศ์ พระสุเมธพุทธเจ้าที่ ๑๑
« เมื่อ: สิงหาคม 26, 2024, 12:42:34 AM »


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 477


๑๑. วงศ์พระสุเมธพุทธเจ้าที่ ๑๑
ว่าด้วยพระประวัติของพระสุเมธพุทธเจ้า

[๑๒] ต่อจาก สมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

พระชินพุทธเจ้า พระนามว่า สุเมธะ
เป็นผู้นำโลก ผู้อันเขาเข้าเฝ้าได้ยาก มีพระเดชยิ่ง สูงสุดแห่งโลกทั้งปวง.
พระองค์มีพระเนตรผ่องใส พระพักตร์งาม พระวรกายใหญ่ ตรง สดใส
ทรงแสวงประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ทรงเปลื้องคนเป็นอันมากให้พ้นจากเครื่องผูก.
ครั้งพระพุทธเจ้า บรรลุพระโพธิญาณ อันสูงสุดสิ้นเชิง
ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ กรุงสุทัสสนะ.
ในการแสดงธรรม แม้พระองค์ก็มีอภิสมัย ๓ ครั้ง
อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์ แสนโกฏิ.
ต่อมาอีก พระชินพุทธเจ้า ทรงทรมานยักษ์ชื่อว่า กุมภกรรณ
อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์เก้าหมื่นโกฏิ.
ต่อมาอีก พระผู้มีพระยศบริวาร หาประมาณมิได้
ทรงประกาศสัจจะ ๔ อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่ สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 478
[/color]พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
ทรงมีสันนิบาต ประชุมพระสาวก ผู้เป็นพระขีณาสพไร้มลทินมีจิตสงบคงที่ ๓ ครั้ง.
ครั้งพระชินพุทธเจ้า เสด็จเข้าไปในกรุงสุทัสสนะ
พระภิกษุขีณาสพร้อยโกฏิประชุมกัน.
ต่อมาอีก
เมื่อภิกษุทั้งหลาย กรานกฐินที่ภูเขาเทวกูฏ
ภิกษุเก้าสิบโกฏิประชุมกัน เป็นสันนิบาตครั้งที่๒.
ต่อมาอีก
ครั้งพระทศพลเสด็จจาริกไป ภิกษุแปดสิบโกฏิประชุมกัน เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.

ครั้งนั้น เราเป็นมาณพ ชื่อ อุตตระ
เราสั่งสมทรัพย์ในเรือนแปดสิบโกฏิ.
เราถวายทรัพย์เสียทั้งหมดสิ้น แด่พระผู้นำโลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ ถึงพระองค์เป็นสรณะ
ชอบใจการบวชอย่างยิ่ง.

ครั้งนั้น แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อทรงทำอนุโมทนา ก็ทรงพยากรณ์เราว่า จักเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อล่วงไปสามหมื่นกัป.
พระตถาคต ออกอภิเนษกรมณ์จากกรุงกบิลพัสดุ์อันน่ารื่นรมย์
ทรงตั้งความเพียรทำทุกกรกิริยา.
พระตถาคตประทับนั่ง ณ โคนต้นอชปาลนิโครธ
รับข้าวมธุปายาสในที่นั้น เข้าไปยังแม่น้ำเนรัญชรา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 479
พระชินเจ้าพระองค์นั้น เสวยข้าวมธุปายาสที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญูชรา
เสด็จไปตามทางอันดีที่เขาจัดแต่งไว้ ไปที่โคนโพธิพฤกษ์.

แต่นั้น พระผู้มียศใหญ่
ทรงทำประทักษิณโพธิมัณฑสถานอันยอดเยี่ยม
ตรัสรู้ ณ โคนโพธิพฤกษ์ชื่อต้นอัสสัตถะ.

ท่านผู้นี้จักมีพระชนนี พระนามว่า พระนางมายา
พระชนก พระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ
ท่านผู้นี้จักมีพระนามว่าโคตมะ.
จักมีพระอัครสาวก ชื่อว่า พระโกลิตะ และพระอุปติสสะ
ผู้ไม่มีอาสวะปราศจากราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่น
พระพุทธอุปัฏฐากชื่อพระอานันทะ จักบำรุงพระชินเจ้าผู้นี้.
จักมีพระอัครสาวิกา ชื่อว่า พระเขมา และพระอุบลวรรณา
ผู้ไม่มีอาสวะ ปราศจากราคะ มีจิตสงบตั้งมั่น
โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่า ต้นอัสสัตถะ.
จักมีอัครอุปัฏฐาก ชื่อว่าจิตตะ และหัตถกะอาฬวกะ
อัครอุปัฏฐายิกา ชื่อว่า นันทมาตา และอุตตรา
พระโคดมผู้มีพระยศ จักมีพระชนมายุ ๑๐๐ ปี.

มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ฟังพระดำรัสนี้ของพระพุทธเจ้า
ผู้ไม่มีผู้เสมอ ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่แล้ว
ก็พากันปลาบปลื้มใจว่า ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 480
หมื่นโลกธาตุ ทั้งเทวโลก พากันส่งเสียงโห่ร้องปรบมือ หัวร่อร่าเริง
ประคองอัญชลีนมัสการ กล่าวว่าผิว่า พวกเราจักพลาดคำสั่งสอน [ศาสนา]
ของพระโลกนาถพระองค์นี้ไซร้ ในอนาคตกาลพวกเราก็จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าน้ำข้างหน้า ก็ถือเอาท่าน้ำข้างหลังข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉันใด.
พวกเราทั้งหมด ผิว่า ผ่านพ้นพระชินพุทธเจ้าพระองค์นี้ไซร้
ในอนาคตกาล พวกเราก็จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้ฉันนั้นเหมือนกัน.
เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว จิตก็ยิ่งเลื่อมใส
จึงอธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไป เพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้บริบูรณ์.
เราเล่าเรียนพระสูตร พระวินัย และนวังคสัตถุศาสน์ทุกอย่าง
ทำศาสนาของพระชินพุทธเจ้าให้งาม.
เราไม่ประมาทในพระศาสนานั้น
อยู่แต่ในอิริยาบถนั่งยืนและเดิน ถึงฝั่งแห่งอภิญญา ก็ไปสู่พรหมโลก

พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
ทรงมีพระนครชื่อว่า สุทัสสนะ
พระชนกพระนามว่า พระเจ้าสุทัตตะ
พระชนนีพระนามว่า พระนางสุทัตตา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 481
พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่ เก้าพันปี
มีปราสาทชั้นยอด ๓ หลัง ชื่อว่า สุจันทะ กัญจนะ และสิริวัฑฒะ
มีพระสนมนารีที่ประดับกายงาม สี่หมื่นแปดพันนาง
มีพระอัครมเหสี พระนามว่า พระนางสุมนา
พระโอรสพระนามว่า ปุนัพพะ.
พระชินพุทธเจ้า ทรงเห็นนิมิต ๔
เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือ ช้าง
ทรงตั้งความเพียร ๘ เดือนเต็ม.

พระมหาวีระสุเมธะ ผู้นำโลก ผู้สงบอันท้าว
มหาพรหมอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร
ณ สุทัสสนราชอุทยานอันสูงสุด.

พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
มีพระอัครสาวกชื่อว่า พระสรณะ พระสัพพกามะ
พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระสาคระ.
มีพระอัครสาวิกา ชื่อว่า พระรามา และ พระสุรามา
โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่า ต้นนิมพะคือ ต้นสะเดา.
อัครอุปัฏฐาก ชื่อว่า อุรุเวลา และยสวา
อัครอุปัฏฐายิกา ชื่อว่า ยสา และสิริวา.
พระมหามุนี สูง ๘๘ ศอก
ส่องสว่างทุกทิศเหมือนดวงจันทร์ ส่องสว่างเห็นหมู่ดาวฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 482
ธรรมดามณีรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ย่อมสว่างไปโยชน์หนึ่ง ฉันใด
รัตนะคือ พระรัศมีของพระองค์ก็แผ่ไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ ฉันนั้น.

ในยุคนั้น มนุษย์มีอายุเก้าหมื่นปี
พระองค์ทรงมีพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น
ย่อมยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร.

พระศาสนานี้ มากไปด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย
ผู้มีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖ ผู้ถึงกำลังฤทธิ์ คงที่.
พระอรหันต์แม้เหล่านั้น ผู้มีบริวารยศหาประมาณมิได้ ผู้หลุดพ้น ปราศจากอุปธิ
พระอรหันต์เหล่านั้น แสดงแสงสว่าง คือ ญาณแล้ว ต่างก็นิพพานกันหมด.
พระชินวรสุเมธพุทธเจ้า ดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารเมธาราม
พระบรมสารีริกธาตุก็เฉลี่ยกระจายไปเป็นส่วนๆ ในประเทศนั้นๆ.
จบวงศ์พระสุเมธพุทธเจ้าที่ ๑๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 483

พรรณนาวงศ์พระสุเมธพุทธเจ้าที่ ๑๑
เมื่อพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ดับขันธปรินิพพานแล้ว
ศาสนาของพระองค์ก็อันตรธานแล้ว
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่อุบัติเป็นเวลา เจ็ดหมื่นปี ว่างพระพุทธเจ้า ในกัปหนึ่ง
สุดท้ายสามหมื่นกัปนับแต่กัปนี้
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดสองพระองค์ คือ
พระสุเมธะ และ
พระสุชาตะ

ในสองพระองค์นั้น พระโพธิสัตว์นามว่า สุเมธะ ผู้บรรลุเมธาปัญญาแล้ว
บำเพ็ญบารมีทั้งหลาย บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากนั้นแล้ว ก็ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนาง สุทัตตาเทวี
อัครมเหสี ของ พระเจ้าสุทัตตะ กรุงสุทัสสนะ
ถ้วนกำหนดทศมาส ก็ประสูติจากพระครรภ์พระชนนี ณ สุทัสสนราชอุทยาน
ประหนึ่งดวงทินกรอ่อนๆ ลอดหลืบเมฆ ฉะนั้น
พระองค์ครองฆราวาสวิสัย เก้าพันปี
เขาว่าทรงมีปราสาท ๓ หลัง ชื่อว่า สุจันทนะสุกัญจนะและสิริวัฒนะ
ปรากฏมีพระสนมนารีสามหมื่นแปดพันนาง มีพระนางสุมนามหาเทวีเป็นประมุข.

พระสุเมธกุมาร นั้น
เมื่อพระโอรสของพระนางสุมนาเทวี พระนามว่า ปุนัพพสุมิตตะ
ทรงสมภพ ทรงเห็นนิมิต ๔
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือ ม้า
ทรงผนวช มนุษย์ร้อยโกฏิก็บวชตาม
พระองค์อันมนุษย์เหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงทำความเพียร ๘ เดือน
ในวันวิสาขบูรณมีเสวยข้าวมธุปายาส ที่ ธิดานกุลเศรษฐี ณ นกุลนิคม ถวายแล้ว
ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สาลวัน
ทรงรับหญ้า ๘ กำ ที่ สุวัฑฒอาชีวก ถวายแล้ว
ทรงลาดสันถัตหญ้า กว้าง ๒๐ ศอก ที่โคนโพธิพฤกษ์ ชื่อ นีปะ ต้นกะทุ่ม
ทรงกำจัดกองกำลังมาร พร้อมทั้งตัวมารแล้ว ทรงบรรลุพระอภิสัมโพธิญาณ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 484
ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติลํสารํ ฯ เป ฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา
ทรงยับยั้งใกล้ๆ โพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๘
ทรงรับอาราธนาแสดงธรรมของท้าวมหาพรหม
ทรงตรวจดูภัพพบุคคล
ทรงเห็น สรณกุมารและสัพพกามีกุมาร
พระกนิษฐภาดาของพระองค์ และภิกษุที่บวชกับพระองค์ร้อยโกฏิ
เป็นผู้สามารถแทงตลอดธรรมคือ สัจจะ ๔ จึงเสด็จทางอากาศ
ทรงลงที่สุทัสสนะราชอุทยาน ใกล้กรุงสุทัสสนะ
โปรดให้พนักงานเฝ้าพระราชอุทยาน เรียกพระกนิษฐภาดามาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักร ท่ามกลางบริวารเหล่านั้น
ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยได้มีแก่ สัตว์แสนโกฏิ นี้เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๑
ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
ต่อจากสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า สุเมธ ผู้นำ
ผู้ที่เข้าเฝ้ายาก มีพระเดชยิ่ง เป็นพระมุนี สูงสุดแห่งโลกทั้งปวง.

พระองค์มีพระเนตรผ่องใส พระพักตร์งามพระวรกายใหญ่ ตรง
สดใส ทรงแสวงประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ทรงเปลื้องสัตว์เป็นอันมาก จากเครื่องผูก.

ครั้งพระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระโพธิญาณ อันสูงสุดสิ้นเชิง
ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ กรุงสุทัสสนะ.
อภิสมัยในการทรงแสดงธรรมแม้ของพระองค์ก็มี ๓ ครั้ง
อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์ แสนโกฏิ.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า อุคฺคเตโช ได้แก่ มีพระเดชสูง.
บทว่า ปสนฺนเนตฺโต ได้แก่ มีพระนัยนาใสสนิท
พระเนตรใสเหมือนก้อนแก้วมณี ที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 485
เขาชำระขัดวางไว้ เพราะฉะนั้นพระองค์เขาจึงเรียกว่า ผู้มีพระเนตรใส
อธิบายว่า มีพระนัยนาประกอบด้วย ขนตาอันอ่อนน่ารักเขียวไร้มลทิน และละเอียด
จะกล่าวว่า สุปฺปสนฺนปญฺจนยโน มีพระจักษุ ๕ ผ่องใสดี ดังนี้ก็ควร.
บทว่า สุมุโข ได้แก่ มีพระพักตร์เสมือนดวงจันทร์เต็มดวงในฤดูสารท.

บทว่า พฺรหา ได้แก่ พรหาคือใหญ่
เพราะทรงมีพระสรีระขนาด ๘๘ ศอก
อธิบายว่า ขนาดพระสรีระไม่ทั่วไปกับคนอื่นๆ.

บทว่า อุชุ ได้แก่ มีพระองค์ตรงเหมือนพรหม คือ มีพระสรีระสูงตรงขึ้นนั่นเอง
อธิบายว่ามีพระวรกายเสมือนเสาระเนียดทอง ที่เขายกขึ้นกลางเทพนคร.
บทว่า ปตาปวา ได้มีพระสรีระรุ่งเรือง.
บทว่า หิเตสี แปลว่า แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล.
บทว่า อภิสมยา ตีณิ ก็คือ อภิสมยา ตโย อภิสมัย ๓ ทำเป็นลิงควิปลาส.
ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติตอนย่ำรุ่ง
ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ทรงตรวจดูโลก
ก็เห็นยักษ์กินคน ชื่อ กุมภกรรณ
มีอานุภาพเสมือน กุมภกรรณ ปรากฏเรือนร่างร้ายอยู่ปากดงใหญ่
คอยดักตัดการสัญจรทางเข้าดงอยู่ แต่ลำพังพระองค์ไม่มีสหาย
เสด็จเข้าไปยังภพของยักษ์ตนนั้น เข้าไปข้างใน ประทับนั่งบนที่ไสยาสน์อันมีสิริ
ลำดับนั้น
ยักษ์ตนนั้น ทนการลบหลู่ไม่ได้ ก็กริ้วโกรธเหมือนงูมีพิษร้ายแรง
ถูกตีด้วยไม้ ประสงค์จะขู่พระทศพลให้กลัว
จึงทำอัตภาพของตนให้ร้ายกาจ
ทำศีรษะเหมือนภูเขา
เนรมิตดวงตาทั้งสองเหมือนดวงอาทิตย์
ทำเขี้ยวคมยาวใหญ่อย่างกับหัวคันไถ
มีท้องเขียวใหญ่ยาน
มีแขนอย่างกะลำต้นตาล
มีจมูกแบนวิกลและคด
มีปากแดงใหญ่อย่างกะปล่องภูเขา
มีเส้นผมใหญ่เหลืองและหยาบ
มีแววตาน่ากลัวยิ่ง
มายืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าสุเมธะ
บังหวนควัน บันดาลเพลิงลุกโชน บันดาลฝน ๙ อย่าง คือ
ฝนแผ่นหิน
ภูเขา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 486
เปลวไฟ
น้ำ
ตม
เถ้า
อาวุธถ่านเพลิงและฝนทราย ให้ตกลงมา
ไม่อาจให้พระผู้มีพระภาคเจ้าขับเขยื้อนแม้เท่าปลายขน
คิดว่า จำเราจักถามปัญหาแล้วฆ่าเสีย
แล้วถามปัญหาเหมือนอาฬวกยักษ์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนำยักษ์ตนนั้นเข้าสู่วินัย
ด้วยทรงพยากรณ์ปัญหา.
เขาว่า วันที่ ๒ จากวันนั้น พวกมนุษย์ชาวแคว้น
นำเอาราชกุมารพร้อมด้วยภัตตาหารที่บรรทุกมาเต็มเกวียน มอบให้ยักษ์ตนนั้น
ครั้งนั้น ยักษ์ได้ถวายพระราชกุมารแด่พระพุทธเจ้า
พวกมนุษย์ที่อยู่ประตูดง ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้งนั้น ในสมาคมนั้น พระทศพลเมื่อจะทรงแสดงธรรมอันเหมาะแก่ใจของยักษ์
ทรงยังธรรมจักษุให้เกิดแก่สัตว์เก้าหมื่นโกฏิ นั้นเป็นธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒

ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
วันรุ่งขึ้น พระชินพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทรมาน ยักษ์กุมภกรรณ
อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่ สัตว์ เก้าหมื่นโกฏิ.
ครั้งที่ทรงประกาศสัจจะ ๔ ณ สิรินันทราช อุทยาน อุปการีนคร
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์ แปดหมื่นโกฏิ

ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
ต่อมาอีก
พระผู้มีพระยศหาประมาณมิได้ ก็ทรงประกาศสัจจะ ๔
อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่ สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าสุเมธะ ก็ทรงมีสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ในสันนิบาตครั้งที่ ๑ ณ กรุงสุทัสสนะ มีพระขีณาสพร้อยโกฏิ
ในสันนิบาตครั้งที่ ๒ เมื่อพวกภิกษุกรานกฐิน ณ ภูเขาเทวกูฏ มีพระอรหันต์เก้าสิบโกฏิ
ในสันนิบาตครั้งที่ ๓ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริก มีพระอรหันต์แปดสิบโกฏิ
ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 487

พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
มีสันนิบาตประชุมสาวกขีณาสพ ผู้ไร้มลทิน มีจิตสงบคงที่ ๓ ครั้ง.
ครั้งพระชินพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปยังกรุงสุทัสสนะ ภิกษุขีณาสพร้อยโกฏิ ประชุมกัน.
ต่อมา ครั้งภิกษุทั้งหลายช่วยกันกรานกฐิน ณ ภูเขาเทวกูฎ พระขีณาสพเก้าสิบโกฏิ
ประชุมกัน เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒.
ต่อมา ครั้งพระทศพลเสด็จจาริกไป พระขีณาสพแปดสิบโกฏิ
ประชุมกัน เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.

ครั้งนั้น
พระโพธิสัตว์ของเราเป็นมาณพที่เป็นยอดของคนทั้งปวง ชื่อ อุตตระ
สละทรัพย์แปดสิบโกฏิ ที่ฝังเก็บไว้
ถวายมหาทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฟังธรรมของพระทศพลในครั้งนั้น ก็ตั้งอยู่ในสรณะ แล้วออกบวช
พระศาสดาแม้พระองค์นั้น เมื่อทรงทำอนุโมทนาโภชนทาน
ก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า
ในอนาคตกาล จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ.
ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
สมัยนั้น เราเป็นมาณพชื่ออุตตระ เราสั่งสมทรัพย์ไว้ในเรือนแปดสิบโกฏิ.
เราถวายทรัพย์ทั้งหมดสิ้น แด่พระผู้นำโลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ ถึงพระองค์เป็นสรณะ
และเราชอบใจการบวชอย่างยิ่ง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 488
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อทรงทำอนุโมทนาทรงพยากรณ์เราว่า
ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อล่วงไปสามหมื่นกัป.
พระตถาคต ทรงตั้งความเพียร ฯ ล ฯ จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
พึงทำคาถาพยากรณ์ให้พิศดาร
เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว จิตก็ยิ่งเลื่อม
ใสจึงอธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไป เพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้บริบูรณ์.
เราเล่าเรียนพระสูตรพระวินัย และนวังคสัตถุศาสน์ทุกอย่าง
ยังศาสนาของพระชินพุทธเจ้าให้งาม.
เราไม่ประมาทในพระศาสนานั้น.
อยู่แต่ในอิริยาบถ นั่ง ยืน และเดิน ก็ถึงฝั่งแห่งอภิญญา เข้าถึงพรหมโลก.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า สนฺนิจิตํ ได้แก่ เก็บไว้โดยการฝัง.
บทว่า เกวลํ แปลว่า ทั้งสิ้น.
บทว่า สพฺพํ ได้แก่ ให้ไม่เหลือเลย.
บทว่า สสงฺเฆ ก็คือ พร้อมกับพระสงฆ์.
บทว่า ตสฺสูปคญฺฉึ ก็คือ ตํ อุปคญฺฉึฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถทุติยาวิภัตติ.
บทว่า อภิโรจยึ ได้แก่ บวช.
บทว่า ตึสกปฺปสหสฺสมฺหิ ความว่า เมื่อสามหมื่นกัปล่วงแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้า สุเมธะ
ทรงมีพระนครชื่อว่า สุทัสสนะ
พระชนกพระนามว่า พระเจ้าสุทัตตะ
พระชนนี พระนามว่า พระนางสุทัตตา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 489

คู่พระอัครสาวกชื่อว่า พระสรณะ และ พระสัพพกามะ
พระพุทธอุปัฏฐากชื่อ พระสาคระ
คู่พระอัครสาวิกา ชื่อ พระรามา พระสุรามา
โพธิพฤกษ์ ชื่อ มหานีปะ คือ ต้นกะทุ่มใหญ่
พระสรีระสูง ๘๘ ศอก
พระชนมายุเก้าหมื่นปี

ทรงครองฆราวาสวิสัยเก้าพันปี
พระอัครมเหสีพระนามว่า พระนาง สุมนา
พระโอรสพระนามว่า ปุนัพพสุมิตตะ
ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยาน คือช้าง.
คำที่เหลือปรากฏในคาถาทั้งหลาย
ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
ทรงมีพระนครชื่อว่า สุทัสสนะ
พระชนกพระนามว่า พระเจ้าสุทัตตะ
พระชนนีพระนามว่า พระนางสุทัตตา.
พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
พระอัครสาวก ชื่อว่า พระสรณะ พระสัพพกามะ
พระพุทธอุปัฏฐาก ชื่อว่า พระสาคระ.
พระอัครสาวิกา ชื่อว่าพระรามา พระสุรามา
โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่า ต้นมหานีปะ คือต้นกะทุ่มใหญ่.
พระมหามุนี สูง ๘๘ ศอก
ทรงส่องสว่างทั่วทุกทิศ เหมือนดวงจันทร์ส่องสว่างในหมู่ดาว ฉะนั้น.
ธรรมดามณีรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมส่องสว่างไปได้โยชน์หนึ่ง ฉันใด
รัตนะคือพระรัศมีของพระสุเมธพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็แผ่ไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ ฉันนั้นเหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 490

ในยุคนั้น มนุษย์มีอายุเก้าหมื่นปี
พระองค์มีพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น ย่อมยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร.
พระศาสนานี้ เกลื่อนกล่นด้วยพระอรหันต์ ผู้มีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖ ผู้ถึงกำลังคงที่ดี.
พระอรหันต์เหล่านั้นทั้งหมด มียศที่หาประมาณมิได้ หลุดพ้น ปราศจากอุปธิ
ท่านผู้มียศใหญ่เหล่านั้นแสดงแสงสว่างคือญาณแล้ว ต่างก็นิพพานไป.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า จนฺโท ตาราคเณ ยถา ความว่า จันทร์เพ็ญในท้องฟ้า
ย่อมส่องหมู่ดาวให้สว่าง ให้ปรากฏ ฉันใด
พระสุเมธพุทธเจ้า ก็ทรงส่องทุกทิศให้สว่าง ฉันนั้นเหมือนกัน.
อาจารย์บางพวกกล่าวว่า
จนฺโท ปณฺณรโส ยถา ดังนี้ก็มี. ปาฐะนั้น ความง่ายเหมือนกัน.
บทว่า จกฺกวตฺติมณี นาม ความว่า มณีรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ยาว ๔ ศอก
ใหญ่เท่ากับดุมเกวียน มีมณีแปดหมื่นสี่พันเป็นบริวาร
มาถึงมณีรัตนะที่ดูน่ารื่นรมย์อย่างยิ่งจากเวปุลลบรรพต
ดุจเรียกเอาความงามที่เกิดจากสิริของรัชนีกรเต็มดวงในฤดูสารทอันหมู่ดาวแวดล้อมแล้ว
รัศมีของมณีรัตนะนั้นที่มาอย่างนั้น ย่อมแผ่ไปตลอดโอกาสประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ ฉันใด
รัตนะ คือ พระรัศมีก็แผ่ไปโยชน์หนึ่ง โดยรอบ
จากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 491
บทว่า เตวิชฺชฉฬภิญฺเญหิ ความว่า ผู้มีวิชชา ๓ และอภิญญา ๖.
บทว่า พลปฺปตฺเตหิ ได้แก่ ผู้ถึงกำลังแห่งฤทธิ์.
บทว่า ตาทิหิ ได้แก่ ผู้ถึงความเป็นผู้คงที่.
บทว่า สมากุลํ ได้แก่ เกลื่อนกล่น คือ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวะอย่างเดียวกัน.
ท่านกล่าวว่า อิทํ หมายถึง พระศาสนาหรือพื้นแผ่นดิน.
บทว่า อมิตยสา ได้แก่ ผู้มีบริวารหาประมาณมิได้ หรือผู้มีเกียรติก้องที่ชั่งไม่ได้.
บทว่า นิรูปธี ได้แก่ เว้นจากอุปธิ ๔.
คำที่เหลือในคาถาทั้งหลายในที่นี้ทุกแห่ง ชัดแล้วทั้งนั้นแล.
จบพรรณนาวงศ์พระสุเมธพุทธเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 492

[/b][/color]


 

Sitemap 1 2 3 4 5 6 7 8 9