พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 255
๑. วงศ์พระทีปังกรพุทธเจ้าที่ ๑
ว่าด้วยพระประวัติของพระทีปังกรพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องอดีตแก่พระสารีบุตรว่า
[๒] เมื่อ สี่ อสงไขย แสนกัป
มีนครชื่อ อมรนครน่าชมชื่นรื่นรมย์.
ไม่ว่างเว้นจากเสียง ๑๐ เสียง พรั่งพร้อมด้วยข้าวน้ำ
มีเสียงข้าง เสียงม้า เสียงกลอง เสียงสังข์เสียงรถ.
เสียงอึกทึกด้วยเสียงร้องเชิญบริโภคอาหาร ว่า
เชิญกินข้าว เชิญดื่มน้ำ เป็นนครเพียบพร้อมด้วยองค์
ประกอบทุกอย่าง ประกอบด้วยการงานทุกอย่าง.
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ คลาคล่ำ ด้วยชนต่างๆ
มั่งคั่ง เป็นที่อยู่ของคนมีบุญ เหมือนเทพนคร.
ในนครอมรวดี
มีพราหมณ์ชื่อสุเมธมีกองทรัพย์หลายโกฏิ
มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นอันมาก.
เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนต์ จบไตรเพทถึงฝั่ง[สำเร็จ]
ในลักขณศาสตร์ อิติหาสศาสตร์ ในศาสนาของตน.
ครั้งนั้น เรานั่งอยู่ในที่ลับ จึงคิดอย่างนี้ว่า
ขึ้นชื่อว่า การเกิดอีก ความแตกสลายแห่งสรีระ เป็นทุกข์ ถูกชราย่ำยีหลงตายก็เป็นทุกข์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 256
ครั้งนั้น เรามีชาติ ชรา พยาธิ เป็นสภาพ
จำเราจักแสวงหาพระนิพพานที่ไม่แก่ ไม่ตาย แต่เกษม.
ถ้ากระไร เราเมื่อไม่ไยดี ไม่ต้องการ
ก็ควรละทิ้งกายอันเน่านี้ ที่เต็มด้วยซากศพต่างๆ ไปเสีย.
ทางนั้น คงมีแน่ ทางนั้น จักไม่มีไม่ได้
จำเราจักแสวงหาทางนั้น เพื่อหลุดพ้นจากภพ.
เมื่อทุกข์มี แม้ชื่อว่าสุข ก็ย่อมมีฉันใด
เมื่อภพมี สภาวะที่ไม่ใช่ภพ ก็พึงปรารถนาฉันนั้น.
เมื่อความร้อนมี ความเย็นก็ย่อมมีฉันใด
เมื่อไฟ ๓ กองมี ความดับไฟ ก็พึงปรารถนาฉันนั้นเหมือนกัน.
เมื่อความชั่วมี แม้ความดี ก็ย่อมมีฉันใด
เมื่อความเกิดมี ความไม่เกิด ก็พึงปรารถนาฉันนั้นเหมือนกัน.
บุรุษตกบ่ออุจจาระ เห็นหนองน้ำ มีน้ำเต็ม ไม่แสวงหาหนองน้ำ ฉันใด.
เมื่อหนองน้ำ คือ อมตะ สำหรับชำระล้างมลทิน คือ กิเลส มีอยู่
แต่คนไม่แสวงหนองน้ำ
ก็ไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำคือ อมตะ ก็ฉันนั้น.
บุรุษถูกศัตรูทั้งหลายล้อมรอบ
เมื่อทางไปมีอยู่ บุรุษนั้นไม่หนีไป
นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของทาง ฉันใด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 257
บุรุษถูกกิเลสรุมล้อม
เมื่อทางอันรุ่งเรืองมีอยู่
เขาไม่แสวงหาทางนั้น
ก็ไม่ใช่ความผิดของทางอันรุ่งเรื่อง ก็ฉันนั้น.
บุรุษเจ็บป่วย เมื่อหมอมีอยู่ ไม่ยอมให้หมอ
เยียวยาความเจ็บป่วย
นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของหมอฉันใด.
บุรุษถูกความเจ็บป่วยคือกิเลสบีบคั้นประสบทุกข์
ยังไม่แสวงหาอาจารย์
นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ฉันนั้น.
[ถ้ากระไร เราพึงละทิ้งกายอันเน่านี้ ที่เต็มด้วยซากศพไปเสีย ไม่ไยดี ไม่ต้องการ]
บุรุษ ปลดซากศพอันน่าเกลียดที่ผูกคอไปเสีย
มีความสบาย มีเสรี มีอำนาจในตัวเอง แม้ฉันใด.
เราก็พึงละทิ้งกายอันเน่านี้ เป็นที่สะสมซากศพต่างๆ ไปเสีย ไม่ไยดี ไม่ต้องการฉันนั้น.
บุรุษสตรี ละทิ้งอุจจาระไว้ในส้วมไป ไม่ไยดีไม่ต้องการ ฉันใด.
เราละทิ้งกายอันเน่านี้ ที่เต็มด้วยซากศพไปเสียเหมือนทิ้งส้วม ฉันนั้นเหมือนกัน.
เจ้าของเรือ ละทิ้งเรือรั่วน้ำลำเก่าที่ชำรุดไปไม่ไยดี ไม่ต้องการ ฉันใด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 258
เราละทิ้งกายอันเน่านี้ ที่มี ๙ ช่อง มีของไม่สะอาดไหลออกอยู่เป็นนิตย์ไปเสีย
เหมือนเจ้าของเรือทิ้งเรือลำเก่าฉันนั้น.
บุรุษเดินทางไปกับพวกโจร นำสินค้าไปด้วย
เห็นภัยคือความเสียหายแห่งสินค้า จึงละทิ้งพวกโจรไปเสีย ฉันใด.
กายอันนี้ ก็เปรียบเสมอด้วยมหาโจร จำเราจักละกายนี้ไป
เพราะกลัวเสียหายแห่งกุศล ฉันนั้นเหมือนกัน.
เราครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ก็ให้ทรัพย์หลาย ร้อยโกฏิ
แก่คนมีที่พึ่งและคนไม่มีที่พึ่ง เข้าไปหิมวันตประเทศ.
ในที่ไม่ไกลหิมวันตประเทศ มีภูเขา ชื่อ ธัมมิกะ
เราก็ทำอาศรม สร้างบรรณศาลา.
ในอาศรมนั้น
เราสร้างที่จงกรมอันเว้นจากโทษ ๕ ประการ
ประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ นำมาซึ่งกำลังแห่งอภิญญา.
ในอาศรมนั้น เราทิ้งผ้าอันประกอบด้วยโทษ ๙
ประการ นุ่งผ้าเปลือกไม้ ที่ประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ.
เราละบรรณศาลา อันเกลื่อนด้วยโทษ ๘ ประการ
เข้าไปอาศัยโคนไม้ อันประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ.
เราละธัญชาติ ที่หว่าน ที่ปลูกไว้ ไม่เหลือเลย
บริโภคแต่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมดา อันประกอบด้วยคุณเป็นอันมาก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 259
เราตั้งความเพียร ณ โคนไม้นั้น ได้แก่ นั่ง ยืนและเดิน
ภายใน ๗ วัน ก็บรรลุกำลังแห่งอภิญญา.
เมื่อเราประสบความสำเร็จ ชำนาญในพระศาสนาอย่างนี้
พระชินเจ้าผู้นำโลก พระนามว่า ทีปังกร ก็เสด็จอุบัติ.
เรามัวเปี่ยมด้วยความยินดีในฌาน จึงไม่เห็นนิมิต ๔ คือ
ในการเสด็จอุบัติ ในการประสูติ ในการตรัสรู้และในการแสดงธรรม.
ในถิ่นแถบปัจจันตประเทศ ชาวรัมมนคร มีใจยินดีแล้ว นิมนต์พระตถาคต
ช่วยกันแผ้วถางหนทางเสด็จมาของพระองค์.
สมัยนั้น
เราออกจาก อาศรมของตน สะบัดผ้าเปลือกไม้ เหาะไปในอัมพร
ขณะนั้น.
เราเห็นชนที่เกิดโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจแล้ว ก็ลงจากท้องฟ้า
ถามคนทั้งหลายในทันที.
มหาชนเกิดโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจกัน
พวกท่านแผ้วถางหนทาง เพื่อใครกัน.
คนเหล่านั้นถูกเราถามแล้ว จึงตอบว่า
พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมพระนามว่า ทีปังกร ผู้ชนะผู้นำโลก เกิดขึ้นแล้วในโลก
เราแผ้วถางหนทางเพื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
เพราะได้ยินว่า พุทโธ ปีติก็เกิดแก่เราในทันที
เราเมื่อกล่าวว่า พุทโธ พุทโธ ก็ซาบซึ้งโสมนัส.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 260
เรายินดีประหลาดใจแล้ว ก็ยืนคิด ณ ที่ตรงนั้นว่า
จำเราจักปลูกพืชในพระพุทธเจ้าพระองค์นี้
ขณะอย่าได้ล่วงไปเปล่าเลย.
จึงกล่าวว่า ผิว่า พวกท่านแผ้วถางเพื่อพระพุทธเจ้า
ก็ขอพวกท่าน จงให้โอกาสแห่งหนึ่งแก่เรา ถึงเราก็จักแผ้วถางหนทาง.
คนเหล่านั้น
ได้ให้โอกาสทั้งหลายแก่เรา เพื่อแผ้วถางทางในขณะนั้น.
เมื่อโอกาสของเรายังไม่เสร็จ พระชินเจ้าทีปังกร มหามุนี
ก็เสด็จพุทธดำเนินทาง พร้อมด้วยภิกษุสี่แสนรูป
ผู้มีอภิญญา ผู้คงที่ เป็นขีณาสพ ไร้มลทิน.
การรับเสด็จก็ดำเนินไป กลองเป็นอันมากก็ประโคมขึ้นเอง
มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ก็ปลื้มปราโมช แซ่ซ้องสาธุการ.
พวกเทวดาก็เห็นพวกมนุษย์
พวกมนุษย์ก็เห็นพวกเทวดา
แม้ทั้งสองพวกก็ประคองอัญชลี ตามเสด็จพระตถาคต.
พวกเทวดาก็บรรเลงด้วยดนตรีของทิพย์
พวกมนุษย์ก็บรรเลงด้วยดนตรีของมนุษย์
แม้ทั้งสองพวก ก็บรรเลงตามเสด็จพระตถาคต.
ในอากาศ พวกเทวดาเหล่าเดินหน
ก็โปรยดอกมณฑารพ ดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะของทิพย์ ตลอดทิศานุทิศ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 261
ในอากาศ พวกเทวดาเหล่าเดินหน
ก็โปรยจุรณจันทน์ ของหอมอย่างดี ของทิพย์ สิ้นทั้งทิศานุทิศ.
พวกมนุษย์ที่ไปตามพื้นดิน
ก็ชูดอกจำปา ดอกช้างน้าว
ดอกกระทุ่ม ดอกกะถินพิมาน ดอกบุนนาคและดอกเกด ทั้วทิศานุทิศ.
ในที่นั้น เราเปลื้องผม ผ้าเปลือกไม้และแผ่นหนัง
ปูลาดลงที่ตม แล้วก็นอนคว่ำ ด้วยความปรารถนาว่า
ขอพระพุทธเจ้ากับศิษย์สาวกทั้งหลาย
จงเหยียบเรา เสด็จไป อย่าทรงเหยียบตมเลย
การอันนี้จักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา.
เรานอน เหนือแผ่นดิน
ก็คิดอย่างนี้ว่า
เราปรารถนา
ก็จะพึงเผากิเลสทั้งหลาย
ของเราได้ ในวันนี้.
ประโยชน์อะไรของเรา
ด้วยเพศ ที่ไม่มีใครรู้จัก
ด้วยการกระทำให้แจ้งธรรม
ในพระพุทธเจ้า พระองค์นี้
เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว
ก็จะเป็นผู้พ้นเอง
จะยังโลก พร้อมทั้งเทวโลก
ให้พ้นด้วย.
ประโยชน์อะไรของเรา
ด้วยบุรุษผู้แสดงกำลัง จะข้ามไปแต่ผู้เดียว
เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว
ก็จักยังโลก พร้อมทั้งเทวโลก
ให้ข้ามด้วย.
ด้วยอธิการบารมีนี้
ที่เราทำในพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
ก็จะยังหมู่ชนเป็นอันมาก
ให้ข้ามโอฆสงสาร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 262
เราจักตัดกระแส สังสารวัฏ
กำจัดภพ ๓ แล้วขึ้นสู่ธรรมนาวา
ยังโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ให้ข้ามโอฆสงสาร
พระทีปังกรพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้รับของบูชา ประทับยืนใกล้ศีรษะเรา
ได้ตรัสดังนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย จงดูชฏิลดาบส ผู้มีตบะสูงผู้นี้
ในกัปที่นับไม่ได้แต่กัปนี้ไป
เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก.
ตถาคตออกอภิเนษกรมณ์จากนครอันน่ารื่นรมย์
ชื่อว่า กบิลพัศดุ์ ตั้งความเพียรทำทุกกรกิริยา.
ตถาคต ประทับนั่ง ณ โคนต้น อชปาลนิโครธ
ประคองรับมธุปายาส ณ ที่นั้นแล้ว จักเข้าไปยังแม่น้ำ เนรัญชรา.
พระชินเจ้านั้น เสวยมธุปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชราแล้ว
จักเข้าไปที่โคนโพธิพฤกษ์ ตามทางอันดีที่เขาจัดตบแต่งไว้แล้ว.
แต่นั้น พระผู้มียศใหญ่
ก็กระทำประทักษิณโพธิมัณฑสถาน
จักแทงตลอดพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ที่โคนอัสสัตถพฤกษ์ต้นโพธิใบ.
พระชนนีของท่านดาบสผู้นี้ จักมีพระนามว่า มายา
พระชนกพระนามว่า สุทโธทนะ
ดาบสผู้นี้จักมีพระนามว่า โคตมะ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 263
พระโกลิตะ และพระอุปติสสะ
จักเป็นอัครสาวก ผู้ไม่มีอาสวะ ปราศจากราคะ มีจิตสงบตั้งมั่น
อุปัฏฐาก ชื่ออานนทะ จักบำรุงท่านชินะผู้นี้.
พระเขมาและพระอุบลวรรณา
จักเป็นอัครสาวิกาผู้ไม่มีอาสวะ ปราศจากราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่น.
โพธิต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้
ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เรียกกันว่า อัสสัตถพฤกษ์ โพธิใบ
ท่านจิตตะและท่านหัตถอาฬวกะ
จักเป็นอัครอุบาสก.
นันทมาตา และ อุตตรา
จักเป็นอัครอุบาสิกา
พระชนมายุของพระโคดมนั้นประมาณ ๑๐๐ ปี.
มนุษย์และเทวดา ฟังพระดำรัสนี้
ของพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ ผู้ไม่มีผู้เสมอแล้ว
ก็ดีใจว่า ท่านผู้นี้เป็นหน่อพืช พระพุทธเจ้า.
หมื่นโลกธาตุพร้อมทั้งเทวดา พากันส่งเสียงโห่ร้อง
ปรบมือ หัวเราะ ประคองอัญชลี
นมัสการกล่าวว่า
ผิว่า พวกเรา
จักพลาดคำสอนของพระโลกนาถพระองค์นี้
ในอนาคตกาล
พวกเราก็จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย
เมื่อข้ามแม่น้ำพลาดท่าน้ำ ท่าตรงหน้า
ก็ยังยึดท่าน้ำ ท่าหลัง ข้ามแม่น้ำใหญ่ได้ ฉันใด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 264
พวกเราทั้งหมด
ผิว่า พ้นพระชินเจ้าพระองค์นี้ไป ในอนาคตกาล
ก็จักอยู่ต่อหน้าท่านผู้นี้ ฉันนั้น.
พระทีปังกร ผู้รู้โลก ผู้ทรงรับของบูชา
ทรงประกาศกรรมของเราแล้ว
ก็ทรงยกพระบาทเบื้องขวา.
พระพุทธชิโนรสทุกองค์ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น ก็ได้ทำประทักษิณเรา
พวกเทวดา มนุษย์ อสูร ยักษ์ก็ไหว้แล้ว ต่างหลีกไป.
เมื่อพระผู้นำโลก
พร้อมทั้งพระสงฆ์ ลับสายตาเราไปแล้ว
เราก็ลุกจากที่นอน นั่งขัดสมาธิในทันที.
เราประสบสุขโดยสุข
บันเทิงใจโดยความปราโมช
ผ่องใสยิ่งโดยปีติ
นั่งขัดสมาธิในขณะนั้น.
เรานั่งขัดสมาธิแล้ว
ก็คิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า
เราชำนาญในฌาน ถึงฝั่งอภิญญา
ฤาษีทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ
ที่เสมอเราไม่มี ไม่มีผู้เสมอในอิทธิธรรมทั้งหลาย
เราก็ได้ความสุขเช่นนี้.
ในการนั่งขัดสมาธิของเรา
เทวดาที่สถิตอยู่ในหมื่นโลกธาตุ
ก็ส่งเสียงเอิกเกริกอึงมี่ว่า
เราเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
นิมิตเหล่าใดปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
แต่ก่อนในการนั่งขัดสมาธิ
นิมิตเหล่านั้นก็ปรากฏแล้วในวันนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 265
ความเย็นก็ปราศไป
ความร้อนก็ระงับไป
นิมิตเหล่านั้น ปรากฏแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
หมื่นโลกธาตุ
ก็ปราศจากเสียง ปราศจากความวุ่นวาย
บุพนิมิตเหล่านั้น ก็เห็นกันแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
มหาวาตะก็ไม่พัด แม่น้ำก็ไม่ไหล
นิมิตเหล่านั้นปรากฏแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
ดอกไม้บนบก ดอกไม้ในน้ำทั้งหมดก็บานในขณะนั้น
ดอกไม้เหล่านั้นก็บานหมดในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
ไม้เถาหรือต้นไม้ ก็ติดผลในขณะนั้น
ต้นไม้เหล่านั้น ก็ออกผลหมดในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
รัตนะทั้งหลายที่อยู่ในอากาศและอยู่ในพื้นดิน
ก็เรืองแสงในขณะนั้น
รัตนะเหล่านั้นก็เรืองแสงแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
ดนตรีมนุษย์และดนตรีทิพย์
บรรเลงขึ้นในขณะนั้น
ดนตรีแม้ทั้งสองนั้นก็ส่งเสียงแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
มหาสมุทร ก็คะนอง หมื่นโลกธาตุก็ไหว
แม้ทั้งสองนั้น ก็ส่งเสียงร้องแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 266
ไฟหลายหมื่นในนรกทั้งหลาย ก็ดับในขณะนั้น
ไฟนรกแม้เหล่านั้นก็ดับแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
ดวงอาทิตย์จ้าไร้มลทิน ดาวทุกดวงก็เห็นได้ชัด
ดาวแม้เหล่านั้น ก็เห็นกันแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
เมื่อฝนไม่ตก น้ำก็พุขึ้นจากแผ่นดิน ในขณะนั้น
น้ำแม้นั้น ก็พุจากแผ่นดินแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
หมู่ดาวและดาวนักษัตรทั้งหลาย
ก็แจ่มกระจ่าง ตลอดมณฑลท้องฟ้า
ดวงจันทร์ก็ประกอบด้วยดาวฤกษ์วิสาขะ
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
สัตว์ทั้งหลาย ที่อยู่ในโพรง ที่อยู่ในร่องน้ำ ก็ออกจากที่อยู่ของตน
สัตว์แม้เหล่านั้น ก็ออกจากที่อยู่แล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
ความไม่ยินดี ไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้สันโดษในขณะนั้น
สัตว์แม้เหล่านั้น ก็เป็นผู้สันโดษแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่
ในขณะนั้น โรคทั้งหลายก็สงบไป ความหิวก็หายไป
บุพนิมิตแม้เหล่านั้น ก็เห็นกันแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 267
ในขณะนั้น ภัยก็ไม่มี
ความไม่มีภัยนั้น ก็เห็นกันแล้วในวันนี้
พวกเรารู้กันด้วยเหตุนั้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
กิเลสดุจธุลีไม่ฟุ้งขึ้นเบื้องบน
ความไม่ฟุ้งแห่งกิเลสดุจธุลีนั้น ก็เห็นกันแล้วในวันนี้
พวกเรารู้กันด้วยเหตุนั้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาก็จางหายไป กลิ่นทิพย์ก็โชยมา
กลิ่นหอมแม้นั้น ก็โชยมาแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
เทวดาทั้งหมด เว้นอรูปภพก็ปรากฏ
เทวดาแม้เหล่านั้น ก็เห็นกันหมดในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
ขึ้นชื่อว่า นรกมีประมาณเท่าใด ก็เห็นกันได้
หมดในขณะนั้น นรกแม้เหล่านั้น ก็เห็นกันแล้วในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
กำแพง บานประตู และภูเขาหิน ไม่เป็นที่กีดขวางในขณะนั้น
กำแพงบานประตูและภูเขาหิน แม้เหล่านั้น ก็กลายเป็นอากาศไปในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
การจุติและปฏิสนธิ ย่อมไม่มีในขณะนั้น
บุพนิมิตแม้เหล่านั้น ก็เห็นกันได้ในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 268
[นิมิตเหล่านี้ ย่อมปรากฏเพื่อความตรัสรู้ของสัตว์ทั้งหลาย]
ขอท่านโปรดประคับประคองความเพียรไว้ให้มั่น
อย่าถอยกลับ โปรดก้าวไปข้างหน้าต่อไปเถิด
แม้พวกเราก็รู้เหตุข้อนั้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
เราสดับพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
และ คำของเทวดาในหมื่นโลกธาตุ ทั้งสองแล้ว
ก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
ในขณะนั้น จึงคิดอย่างนี้ว่า
พระชินพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระดำรัสไม่เป็นสอง
มีพระดำรัสไม่เป็นโมฆะ คำเท็จของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มี
เราจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่.
ก่อนดินถูกเหวี่ยงไปในอากาศ ย่อมตกลงที่พื้นดินแน่นอน
ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดทั้งหลาย
ก็เที่ยงแท้แน่นอนฉันนั้น.
[คำเท็จของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มี เราจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่]
ความตายของสรรพสัตว์ เที่ยงแท้แน่นอน
แม้ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดทั้งหลาย
ก็เที่ยงแท้แน่นอนฉันนั้น.
เมื่อถึงเวลาสิ้นราตรี ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นแน่นอน
ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดทั้งหลาย
ก็เที่ยงแท้แน่นอน ฉันนั้นเหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 269
ราชสีห์ออกจากที่นอน ก็บันลือสีหนาท แน่นอน
ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดทั้งหลาย
ก็เที่ยงแท้แน่นอนฉันนั้นเหมือนกัน.
สัตว์มีครรภ์หนัก ก็ปลงภาระ [คลอดลูก] แน่นอน
ฉันใด พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดทั้งหลาย
ก็เที่ยงแท้แน่นอนฉันนั้น เหมือนกัน.
เอาเถิด เราเลือกเฟ้นพุทธการกธรรม
ทางโน้น ทางนี้
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง
ทั้งสิบทิศ ตราบเท่าที่ธรรมธาตุเป็นไป.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น
ก็เห็นทานบารมี เป็นอันดับแรก เป็นทางใหญ่
ที่พระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลายพระองค์ก่อนๆ ประพฤติตามกันมาแล้ว.
ท่านจงสมาทาน ทานบารมี นี้ไว้นั่นเป็นอันดับแรกก่อน
จงบำเพ็ญทานบารมี ผิว่าท่านต้องการบรรลุโพธิญาณ.
หม้อที่เต็มด้วยน้ำ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่วางคว่ำปากลง
ก็สำรอกน้ำออกไม่เหลือเลย
ไม่รักษาน้ำไว้ในหม้อนั้น แม้ฉันใด.
ท่านเห็นยาจกทั้งหลาย ทั้งชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูงแล้ว
จงให้ทานไม่เหลือเลย เหมือนหม้อที่คว่ำปาก ฉันนั้นเหมือนกัน.
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
เราจึงเลือกเฟ้นพุทธธรรมแม้อื่นๆ ที่ช่วยอบรมบ่มโพธิญาณ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 270
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น ก็เห็นศีลบารมี อันดับสอง
ซึ่งพระผู้แสวงคุณทั้งหลายพระองค์ก่อนๆ พากันซ่องเสพอยู่เป็นประจำ.
ท่านจงสมาทานศีลบารมีอันดับสองนี้ไว้มั่นก่อน
จงบำเพ็ญศีลบารมี ผิว่า ท่านต้องการบรรลุพระโพธิญาณ.
เนื้อจามรี รักษาขนทางที่ติดอยู่ ในที่บางแห่ง
ยอมตายอยู่ในที่นั้น ไม่ยอมให้ขนหางกระจุย
ฉันใด ท่านจงทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ในภพ ๔
จง บริรักษ์ศีลทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหาง ฉันนั้นเหมือนกัน.
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
เราจึงเลือกเฟ้นพุทธธรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้น ก็เห็นเนกขัมมบารมี อันดับสาม
ซึ่งพระผู้แสวงคุณทั้งหลายพระองค์ก่อนๆ ซ่องเสพอยู่เป็นประจำ.
ท่านจงสมาทานเนกขัมมบารมีอันดับสามนี้ไว้ให้มั่นก่อน
จงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ผิว่า ท่านต้องการบรรลุพระโพธิญาณ.
บุรุษอยู่ในเรือนจำมานาน ระทมทุกข์ย่อมไม่เกิดความรักในเรือนจำนั้น
แสวงทาทางหลุดพ้นอย่างเดียวฉันใด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 271
ท่านจง เห็นภพ ทั้งปวง เหมือนเรือนจำ
มุ่งหน้าต่อเนกขัมมะ เพื่อหลุดพ้นจากภพฉันนั้นเหมือนกัน.
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
จำเราจักเลือกเฟ้นพุทธธรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น ก็เห็นปัญญาบารมี อันดับสี่
ซึ่งพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พระองค์ก่อน ๆ ซ่องเสพอยู่เป็นประจำ.
ท่านจงสมาทาน บูชาบารมีอันดับสี่นี่ไว้ให้มั่นก่อน
จงบำเพ็ญปัญญาบารมี ผิว่า ท่านต้องการบรรลุพระโพธิญาณ.
เหมือนอย่างว่า ภิกษุเมื่อขอ ก็ขอทั้งตระกูลชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง
ไม่เว้นตระกูลทั้งหลายเลยดังนั้น จึงได้อาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้
ฉันใดท่านสอบถามท่านผู้รู้ทุกเวลา ถึงฝั่งแห่งปัญญาบารมีแล้ว
ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
จำเราจักเลือกพุทธธรรมอื่นๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น ก็เห็นวิริยบารมี อันดับห้า
ซึ่งพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลายพระองค์ก่อนๆ ซ่องเสพกันเป็นประจำ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 272
ท่านจงสมาทานวิริยบารมี อันดับห้า นี้ไว้ให้มั่นก่อน
จงบำเพ็ญวิริยบารมี ผิว่า ท่านต้องการบรรลุพระโพธิญาณ.
ราชสีห์พระยามฤค มีความเพียรไม่ท้อถอยในอิริยาบถนอน ยืน เดิน ประคองใจอยู่ทุกเมื่อ ฉันใด.
ท่านจงประคองความเพียรไว้ให้มั่นในภพทั้งปวง
ถึงฝั่งแห่งวิริยบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณฉันนั้นเหมือนกัน.
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่มีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
จำเราจักเลือกเฟ้นพุทธธรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น ก็เห็นขันติบารมี อันดับหก
ซึ่งพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลายพระองค์ก่อน ๆ ซ่องเสพกันมาเป็นประจำ.
ท่านจงสมาทานขันติบารมีอันดับหกนี้ ไว้ให้มั่นก่อน
จงมีใจไม่เป็นสองในขันติบารมีนั้น ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ.
ขึ้นชื่อว่าแผ่นดิน ย่อมทนสิ่งของที่เขาทิ้งลงมา
สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ทุกอย่าง ไม่ทำความยินดียินร้ายฉันใด.
แม้ตัวท่าน ก็ต้องเป็นผู้อดทนต่อการยกย่องและ
การดูหมิ่น ของชนทั้งปวง ฉันนั้นเหมือนกัน
ถึงฝั่งแห่งขันติบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 273
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
จำเราจักเลือกเฟ้นพุทธธรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น ก็เห็นสัจบารมีอันดับเจ็ด
ซึ่งพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ซ่องเสพกันมาเป็นประจำ.
ท่านจงสมาทานสัจบารมี อันดับเจ็ดนี้ไว้ให้มั่นก่อน
มีวาจาไม่เป็นสองในสัจบารมีนั้น ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
ธรรมดาดาวประกายพรึก เป็นดังตาชั่งของโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่ว่าฤดูฝน ฤดูหนาว ดูร้อนไม่โคจรออกนอกวิถีโคจรเลย ฉันใด.
ถึงตัวท่าน ก็อย่าเดินออกนอกวิถีทางในสัจจะทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ถึงฝั่งแห่งสัจบารมีแล้วก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
จำเราจักเลือกเฟ้นพุทธธรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นก็เห็นอธิษฐานบารมีอันดับแปด
ซึ่งพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พระองค์ก่อน ๆ ซ่องเสพกันมาเป็นประจำ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 274
ท่านจงสมาทานอธิษฐานบารมีอันดับแปดนี้ไว้ให้มั่นก่อน
เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้นแล้วจักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
ภูเขาหิน ไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมไม่ไหวด้วยล้มแรงกล้า
ย่อมตั้งอยู่ในฐานของตนนั่นเองฉันใด
ถึงตัวท่าน ก็จงไม่หวั่นไหว ในอธิษฐานบารมีทุกเมื่อ ฉันนั้นเหมือนกัน
ถึงฝั่งแห่งอธิษฐานบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
จำเราจักเลือกเฟ้นพุทธธรรมก่อน ๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น ก็เห็นเมตตาบารมีอันดับเก้า
ซึ่งพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พระองค์ก่อน ๆ ซ่องเสพกันมาเป็นประจำ.
ท่านจงสมาทานเมตตาบารมีอันดับเก้านี้ไว้ให้มั่นก่อน
จงเป็นผู้ไม่มีผู้เสมอด้วยเมตตา ผิว่า ท่านต้องการบรรลุพระโพธิญาณ.
ธรรมดาน้ำ ย่อมแผ่ความเย็นไปเสมอกัน ทั้งในคนดีคนชั่ว
ย่อมชำระล้างมลทินคือธุลีไป ฉันใด.
ท่านจงแผ่เมตตาไปสม่ำเสมอ
ในคนที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและคนที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ฉันนั้นเหมือนกัน
ถึงฝั่งแห่งเมตตาบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 275
พุทธธรรมเหล่านั้น มิใช่จักมีแต่เพียงเท่านี้เท่านั้น
จำเราจักเลือกเฟ้นพุทธธรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณ.
ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้น ก็เห็นอุเบกขาบารมีอันดับสิบ
ซึ่งพระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ทั้งหลายพระองค์ก่อน ๆ ซ่องเสพกันมาเป็นประจำ.
ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมี อันดับสิบนี้ไว้ให้มั่นก่อน
ท่านจงเป็นผู้มั่นคงดั่งตาชั่ง ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
ธรรมดาแผ่นดิน ย่อมวางเฉยต่อสิ่งที่เขาทิ้งลง
ไม่ว่าสะอาด ไม่สะอาด แม้ทั้งสองอย่าง เว้นความยินดียินร้าย แม้ฉันใด.
ถึงตัวท่านก็จงเป็นดั่งตาชั่งในสุขและทุกข์ทุกเมื่อ ฉันนั้นเหมือนกัน
ถึงฝั่งแห่งอุเบกขาบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
ธรรมซึ่งช่วยอบรมบ่มพระโพธิญาณในโลก
มีเพียงเท่านี้ เท่านั้น ที่สูงนอกไปจากนั้น ไม่มี
ท่านจงตั้งอยู่ในธรรมเหล่านั้นอย่างมั่นคง.
เมื่อเรากำลังพิจารณาธรรมเหล่านั้น โดยลักษณะแห่งกิจคือ สภาวะ
แผ่นพสุธาในหมื่นโลกธาตุก็หวาดไหว เพราะเดชแห่งธรรม.
แผ่นดินไหว ส่งเสียงร้อง เหมือนยนตร์หีบอ้อย บีบอ้อย
แผ่นดินไหวเหมือนลูกล้อในยนตร์ คั้นน้ำมันงาฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 276
บริษัทที่อยู่ในที่เฝ้าพระพุทธเจ้า ก็สั่นงกอยู่ในที่นั้น
พากันนอนสลบไสลอยู่เหนือพื้นดิน.
หม้อเป็นอันมากหลายร้อยหลายพัน ก็กระทบกันและกัน
แหลกเป็นจุรณอยู่ในที่นั้น.
มหาชนทั้งหลาย หวาด สะดุ้งกลัว กลัวลาน กลัวยิ่ง
ก็พากันมาประชุมเข้าเฝ้าพระทีปังกรพุทธเจ้า
ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
เหตุดี เหตุร้ายจักมีแก่โลกหรือ โลกถูกเหตุนั้นรบกวนทั้งโลก
ขอพระองค์ทรงบรรเทาความกลัวนั้นด้วยเถิด.
ครั้งนั้น พระมหามุนีทีปังกร
ทรงยังมหาชนเหล่านั้นให้เข้าใจแล้วตรัสว่า
พวกท่านจงวางใจ อย่ากลัวในการที่แผ่นดินไหวทั้งนี้เลย.
วันนี้ เราพยากรณ์ท่านผู้ใดว่าจักเป็นพระพุทธเจ้า
ท่านผู้นั้นกำลังพิจารณาธรรมก่อน ๆ ที่พระชินเจ้าทรงเสพแล้ว.
เมื่อท่านผู้นั้น กำลังพิจารณาธรรมคือ พุทธภูมิ โดยไม่เหลือเลย
ด้วยเหตุนั้น แผ่นปฐพีนี้ ในหมื่นโลกธาตุพร้อมทั้งเทวโลกจึงไหว.
เพราะฟังพระพุทธดำรัส ใจของมหาชนก็ดับร้อนเย็นใจทันที
ทุกคนจึงเข้ามาหาเรา พากันกราบไหว้เราอีก.
ครั้งนั้น เรายึดถือพระพุทธคุณทำใจไว้มั่น
น้อมนมัสการพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว จึงลุกขึ้นจากอาสนะ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 277
พวกเทวดาถือดอกไม้ทิพย์ พวกมนุษย์ ก็ถือดอกไม้
มนุษย์ทั้งสองพวกก็เอาดอกไม้ทั้งหลายโปรยปรายเรา ผู้กำลังลุกขึ้นจากอาสนะ.
เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวกนั้นก็พากันแซ่ซ้อง สวัสดีว่า
ความปรารถนาของท่านยิ่งใหญ่
ขอท่านจงได้ความปรารถนานั้นสมปรารถนาเถิด.
ขอเสนียดจัญไรจงปราศไป ความโศก โรคจงพินาศไป
อันตรายทั้งหลายจงอย่ามีแก่ท่าน
ขอท่านจงสัมผัสพระโพธิญาณโดยเร็วเถิด.
ต้นไม้ดอก ย่อมออกดอกบาน เมื่อถึงฤดูกาล
ฉันใด ข้าแต่ท่านมหาวีระ
ขอท่านจงบานด้วยพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกันเถิด.
พระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ฉันใด
ข้าแต่ท่านมหาวีระ
ขอท่านจงบำเพ็ญบารมี๑๐ ฉันนั้นเถิด.
พระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ตรัสรู้ที่โพธิมัณฑสถาน ฉันใด ข้าแต่มหาวีระ
ขอท่านจงตรัสรู้ที่โพธิมัณฑสถานของพระชินเจ้า ฉันนั้นเถิด.
พระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ทรงประกาศพระธรรมจักรฉันใด ข้าแต่ท่านมหาวีระ
ขอท่านจงประกาศพระธรรมจักร ฉันนั้นเถิด.
ดวงจันทร์ในราตรีเพ็ญ เต็มดวงรุ่งโรจน์ ฉันใด
ท่านมีมโนรถเต็มแล้ว จงรุ่งโรจน์ในหมื่นโลกธาตุฉันนั้นเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 278
ดวงอาทิตย์พ้นจากราหูแล้ว ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยแสง ฉันใด
ท่านพ้นจากโลกแล้ว ก็จงรุ่งโรจน์ด้วยสิริ ฉันนั้นเหมือนกันเถิด.
แม่น้ำทุกสาย ย่อมชุมนุมไหลสู่มหาสมุทร ฉันใด
โลกพร้อมทั้งเทวโลก
ขอจงชุมนุมกัน ยังสำนักของท่าน ฉันนั้นเถิด.
ครั้งนั้น อุบาสก ชาวรัมมนคร เหล่านั้น
ให้พระโลกนาถพร้อมทั้งพระสงฆ์เสวยแล้ว
ก็ถึงพระทีปังกรศาสดาพระองค์นั้นเป็นสรณะ.
พระตถาคตทรงยังบางคนให้ตั้งอยู่ ในสรณคมน์
บางคนตั้งอยู่ในศีล ๕
บางคนตั้งอยู่ในศีล ๑๐.
พระองค์ประทานสามัญผลอันสูงสุด แก่บางคน
ประทานปฏิสัมภิทา ในธรรมที่ไม่มีธรรมอื่นเสมอแก่บางคน.
พระนราสภ ประทานสมาบัติ ๘ อันประเสริฐแก่บางคน
ทรงประทานวิชชา ๓ อภิญญา ๖ แก่บางคน.
พระมหามุนี ทรงสั่งสอนหมู่ชน โดยนัยนั้น เพราะพระโอวาทนั้น
ศาสนาของพระโลกนาถจึงได้แผ่ไปอย่างกว้างขวาง.
พระพุทธเจ้ามีพระนามว่าทีปังกร
ผู้มีพระหนุใหญ่ มีพระวรกายงาม ทรงยังชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร
ทรงเปลื้องมหาชนเสียจากทุคติ.
พระมหามุนี ทรงเห็นชน ผู้ควรจะตรัสรู้ได้ไกลถึงแสนโยชน์
ในทันใด ก็เสด็จเข้าไปหา ทรงยังเขาให้ตรัสรู้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 279
ในอภิสมัยครั้งแรก
พระพุทธเจ้าทรงยังเทวดาและมนุษย์ให้ตรัสรู้ร้อยโกฏิ
ในอภิสมัยครั้งที่สอง
พระโลกนาถ ทรงยังเทวดาและมนุษย์ให้ตรัสรู้เก้าสิบโกฏิ.
ในสมัยใด
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในภพเทวดา โปรดเทวดาเก้าหมื่นโกฏิ
สมัยนั้น เป็นอภิสมัยครั้งที่สาม.
สาวกสันนิบาตของพระทีปังกรศาสดา มี ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ประชุมสาวก แสนโกฏิ.
เมื่อพระชินเจ้า ประทับสงัด ณ ภูเขานารทกูฏ อีก ภิกษุร้อยโกฏิ
เป็นพระขีณาสพปราศจากมลทิน ก็ประชุมกัน
สมัยใด
พระมหาวีระมหามุนีทรงปวารณาพรรษาพร้อมด้วยภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ.
สมัยนั้น เราเป็นชฎิลมีตบะสูง จงฝั่งอภิญญา ๕ จาริกไปในอากาศ.
ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรม ได้มี แก่เทวดาและมนุษย์หนึ่งหมื่น สองหมื่น
ไม่นับการตรัสรู้โดยจำนวนหนึ่งคน สองคน.
ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร
อันบริสุทธิ์ดีแล้ว แผ่ไปกว้างขวาง
คนเป็นอันมากรูสำเร็จแล้ว เจริญแล้วในครั้งนั้น.
ภิกษุสี่แสนรูป มีอภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
แวดล้อม พระทศพลทีปังกร ผู้รู้แจ้งโลก ทุกเมื่อ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 280
สมัยนั้น ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นเสขะยังไม่
บรรลุพระอรหัต ละภพมนุษย์ไป ภิกษุเหล่านั้น ย่อมถูกครหา.
ปาพจน์คือพระศาสนา อันพระอรหันต์ผู้คงที่ ผู้เป็นขีณาสพ
ไร้มลทิน ทำให้บานเต็มที่แล้ว ย่อมงดงามทุกเมื่อ.
พระทีปังกรศาสดา
ทรงมีพระนครชื่อว่า รัมมวดี
พระชนกเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าสุเทวะ
พระชนนีพระนามว่า พระนางสุเมธา.
พระชินเจ้า
ทรงครอบครองอคารสถานอยู่ หมื่นปี
ทรงมีปราสาท ๓ หลัง คือ หังสา โกญจา และมยุรา
ทรงมีพระสนมนารี สามแสน ล้วนประดับกายสวยงาม
พระมเหสีนั้นพระนามว่า ปทุมา
พระราชโอรสพระนามว่า อุสภขันธกุมาร.
พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว
เสด็จออกทรงผนวชด้วยพระยานคือ พระยาช้างต้น
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม จึงทรงเป็นพระชินเจ้า.
ครั้นทรงประพฤติปธานจริยา ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ
เป็นพระมหามุนีทีปังกรพุทธเจ้า สมพระทัยแล้ว ผู้อันพระพรหมทรงอาราธนาแล้ว.
พระมหาวีระ ชินพุทธเจ้า
ทรงประกาศพระธรรมจักรแล้ว ประทับอยู่ ณ นันทาราม
ประทับนั่งที่ควงไม้ซึก ทรงการทำการทรมานเดียรถีย์แล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 281
พระทีปังกรศาสดา
ทรงมีพระอัครสาวชื่อว่า สุมังคละ และติสสะ
มีพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า สาคตะ.
พระอัครสาวิกา ชื่อว่า นันทาและสุนันทา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกกันว่า ต้นเลียบ.
พระทีปังกรศาสดา
มีอัครอุปัฏฐากชื่อว่า ตปุสสะ และภัลลิกะ
มีอัครอุปัฏฐายิกา ชื่อว่า สิริมาและโสณา.
พระทีปังกรมหามุนี สูง ๘๐ ศอก สง่างามเหมือนต้นไม้ประจำทวีป
เหมือนต้นพระยาสาละ ดอกบานเต็มต้นฉะนั้น.
พระองค์มีพระรัศมี แผ่ไป ๘๐ โยชน์ โดยรอบ
พระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พระองค์นั้น
ทรงมีพระชนมายุแสนปี.
พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ถึงเพียงนั้น
ทรงยังสัทธรรมให้รุ่งโรจน์ ยังมหาชนให้ข้ามโอฆสงสาร
ชื่อว่า ทรงยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร.
พระองค์ทั้งพระสาวก รุ่งโรจน์แล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน
เหมือนกองไฟโพลงแล้วก็ดับไป.
พระวรฤทธิ์ด้วย พระยศด้วย จักรรัตนะที่พระยุคลบาทด้วย
ทั้งนั้นก็อันตรธานไปสิ้น สังขารทุกอย่างก็ว่างเปล่า แน่แท้.
พระชินศาสดาทีปังกร
ดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารนันทาราม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 282
พระชินสถูปของพระองค์ ณ นันทารามนั้นนั่นแล สูง ๓๖ โยชน์.
พระสถูปบรรจุ บาตร จีวร บริขาร และเครื่องบริโภคของพระศาสดา
ตั้งอยู่ ณ โคนโพธิพฤกษ์ในครั้งนั้น สูง ๓ โยชน์.
จบวงศ์พระทีปังกรพุทธเจ้าที่ ๑
[/size][/size]